--------like style page----------
--------Chumpen Suksapar's like style page----------

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

Water lettuec


Water lettuec


WATER LETTUEC

Pistia stratiotes L.
WATER LETTUEC



จอก

จอก ชื่อสามัญ Water lettuec

จอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Pistia stratiotes L. จัดอยู่ในวงศ์ ARACEAE

สมุนไพรจอก ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกว่า ผักกอก (เชียงใหม่), กากอก (ภาคเหนือ), ไต่ผู้เฟี้ย (จีน-แต้จิ๋ว), ต้าฝูผิง (จีนกลาง), จอกใหญ่ เป็นต้น

ลักษณะของต้นจอก

ต้นจอก

จัดเป็นวัชพืชน้ำขนาดเล็ก หรือเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นลอยและเจริญเติบโตติดกันเป็นกลุ่มลอยอยู่บนผิวน้ำ มีอายุยืนหลายปี ลำต้นทอดขนานไปกับผิวน้ำ ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ และมีรากระบบรากแก้วและมีรากฝอยเป็นจำนวนมากออกเป็นกระจุกอยู่ใต้น้ำ สีขาว ลำต้นมีความสูงประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร ลำต้นมีไหล ต้นใหม่จะเกิดจากโคนจ้นและเกิดบนไหล โดยต้นจอกเป็นพรรณไม้น้ำที่ชอบแสงแดดจัด ชอบน้ำจืด สามารถพบได้ตามลำคลอง หนองน้ำ นาข้าว และที่ที่มีน้ำขัง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด หรือแตกไหล และวิธีการแยกต้นอ่อน

ใบจอก

ใบเป็นเดี่ยวสีเขียวเรียงสลับ เกิดบริเวณส่วนโคนของลำต้นเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ รูปร่างของใบมีลักษณะที่ไม่แน่นอน บางครั้งเป็นรูปรี รูปไข่กลับ รูปใบพัด แต่โดยมากเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบมนหยักลอนเป็นคลื่นๆ ฐานใบมนสอบแคบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นสีแดง มีขนขึ้นปกคลุมแผ่นใบทั้งสองด้าน บริเวณฐานใบพองออกและมีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำ ทำให้สามารถลอยน้ำได้ ใบมีความยาวและความกว้างประมาณ 10-25 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวอ่อน ใบไม่มีก้านใบ

ดอกจอก

ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงกลางต้น ตรงโคนใบระหว่างกลาง หรือออกตามวอกใบ ก้านช่อดอกสั้นขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร ดอกจะมีกาบห่อหุ้มดอกอยู่ประมาณ 2-3 ใบ เป็นแผ่นสีเขียวอ่อนหุ้มไว้ ด้านในเรียบ ส่วนด้านนอกมีขนละเอียดปกคลุม ดอกมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียที่แยกกันอยู่ แต่อยู่ในช่อเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะอยู่ด้านบนดอกส่วนดอกเพศเมียจะอยู่ด้านล่าง ดอกจอกเป็นดอกที่ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง ที่โคนดอกเพสผู้จะมีรยางค์แผ่นสีเขียวเชื่อมติดอยู่เป็นรูปถ้วย และมีเกสเพศผู้ประมาณ 4-8 อัน ส่วนดอกเพศเมียจะมีรยางค์เป็นแผ่นสีเขียวติดอยู่เหนือรังไข่

ผลจอก

ผลมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ หรือเป็นผลเป็นชนิดแบคเดท (Bacdate) มีกาบหรือใบประดับสีเขียวอ่อนติดอยู่ ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2-3 เมล็ด บ้างว่ามีจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อนมีลักษณะกลมยาว เปลือกเมล็ดจะมีรอยย่น

สรรพคุณของจอก

ใบมีรสขม เผ็ด และฝาดเล็กน้อย ใช้เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาฟอกเลือดให้เย็นได้ (ใบ) ช่วยขับความชื้นในร่างกาย (ใบ) ช่วยขับพิษไข้ (ใบ)ดอกจอก ช่วยขับเหงื่อ (ใบ) ช่วยขับเสมหะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ช่วยแก้หืด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ใช้เป็นยาขับลม (ใบ) ช่วยแก้อาการบิด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) รากมีสรรพคุณใช้เป็นยาระบาย (ราก) ใบสดใช้ต้มผสมกับน้ำตาลทราย (ใช้อย่างละ 120 กรัม ต่อน้ำ 3 ถ้วย) แล้วต้มให้ข้นจนเหลือถ้วยเดียว ใช้รับประทานให้ได้ครั้ง เพื่อเป็นยาแก้ท้องมาน หรืออาการบวมน้ำ หรือจะใช้ใบแห้งประมาณ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาก็ได้เช่นกัน (ใบ) ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ปัสสาวะไม่คล่อง ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา (ใบ) บ้างระบุว่ารากก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก) ช่วยรักษาโรคโกโนเรีย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคหนองในแท้) (ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นส่วนของใบ) ใบใช้เป็นแก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน และฝีหนองภายนอก (ใบ) ใบใช้เป็นยาแก้หัด แก้ผื่นคัน มีน้ำเหลืองได้ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 100 กรัม นำมาตากให้แห้งหรือผิงไฟให้แห้ง แล้วบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นยาเม็ด ทยอยกินให้หมดภายใน 1 วัน หรือจะใช้ใบแห้งต้มกับน้ำ นำมาอบผิว แล้วใช้น้ำยาที่ต้มได้มาล้างบริเวณที่เป็นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง (ใบ) ใบสดใช้ผสมกับน้ำตาลกรวดดำ อุ่นให้ร้อน ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่ได้รับการกระทบกระเทือน หรือมีอาการฟกช้ำดำเขียว จะช่วยแก้อาการบอบช้ำได้ หรือจะใช้ใบสดนำมาตำใช้เป็นยาพอกก็ได้เช่นกัน (ใบ) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นที่ระบุว่า จอกมีสรรพคุณช่วยแก้วัณโรค แก้อาการไอ แก้ริดสีดวงทวาร แก้ไฟลามทุ่ง ผื่นแดงคัน อาการบวมไม่ทราบสาเหตุ คั้นใบผสมกับน้ำมันมะพร้าวใช้แก้โรคเรื้อน (แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน และไม่ได้ระบุว่าส่วนที่ใช้และวิธีใช้แต่อย่างใด)

วิธีใช้สมุนไพรจอก

ใช้ภายใน ให้ใช้ต้นแห้งประมาณ 10-15 กรัม ใช้ต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ร่วมกับตัวยาอื่นๆ ในตำรับยาก็ได้ โดยใบสดที่นำมาใช้ทำยาควรเลือกใบที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว และควรเก็บใบในหน้าร้อนถึงจะดี แล้วนำมาล้างให้สะอาดตัดรากออกทั้งหมด นำมาตากให้แห้ง ซึ่งจะได้ใบแห้งที่มีรสเค็ม ฉุน และเย็น ใช้เป็นยาภายนอก ให้นำใบสดมาตำแล้วพอกตามความต้องการ

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นจอก

ใบของต้นจอกสดจะมีวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซีมาก มีคาร์โบไฮเดรต 2.6%, เส้นใย 0.9%, โปรตีน 1.4%, ไขมัน 0.3%, ความชื้น 92.9%, ธาตุแคลเซียม 0.20%, ธาตุฟอสฟอรัส 0.06% ประโยชน์ของจอก นอกจากจะใช้เป็นพืชสมุนไพรแล้ว ชาวจีน อินเดีย และแอฟริกายังนำมาใช้เป็นอาหารเพื่อรับประทานในยามขาดแคลนอีกด้วย โดยชาวจีนจะใช้อ่อนนำมาปรุงเป็นอาหาร (ตอนแรกจะไม่รู้รส แต่ต่อมาจะมีรสแสบร้อน) ต้นอ่อนใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู เป็ด ปลา เป็นต้น ต้นจอกสามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักได้ ต้นนำมาใช้ปลูกประดับในอ่างเลี้ยงปลา และเพื่อเป็นที่หลบบังให้กับปลาขนาดเล็กและลูกปลาได้ ข้อควรระวังในใช้สมุนไพรจอก ต้นจอกเป็นพรรณไม้ที่สามารถดูดสารที่มีพิษได้ดีมาก จึงควรตรวจสอบแหล่งน้ำก่อนว่ามีพิษหรือไม่ หากต้นจอกขึ้นอยู่ตามท้องน้ำที่เป็นพิษ หรือหากต้นมีรสขม ก็ไม่ควรนำมารับประทานเป็นอันขาด รากของต้นจอกมีพิษเล็กน้อย ก่อนนำใช้ต้องตัดรากออกให้หมดเสียก่อน และใบที่นำมาต้มควรล้างให้สะอาดก่อนการนำมาใช้ด้วย สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน

แหล่งอ้างอิง

หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, พิมพ์ครั้งที่ 5. “จอก“. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 220-221. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “จอก“. หน้า 176. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จอก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/. [22 ก.พ. 2014]. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “จอก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [22 ก.พ. 2014]. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “จอก“. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org . [22 ก.พ. 2014]. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Pistia stratiotes L.“. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน เล่ม 1 (684). เรียบเรียงข้อมูลโดย ฟรินน์ดอทคอม
ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ จาก http://frynn.com/